วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฺิBody Language

Body language

ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้สื่อสารกับคนอื่นๆหลายๆคนหลายๆ กลุ่ม ตามคนในท้องถิ่นนั้นๆ
แต่กับการเต้นแล้วมีคนหลายกลุ่มพยายามสร้างภาษาของตัวเอง และสามารถสื่อสารได้กับตัวเอง
ตัวตนของตัวเอง เราต้องการให้คนอื่นเข้าใจ ภาษาของเราได้ยาก หรือไม่เข้าใจเลยยิ่งดี กลายเป็น
ภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้คนเดียว คนที่สามารถเข้าใจได้คือคนที่มีพื้นฐานของภาษาที่เรามี
อย่างน้อย 1 ภาษา แต่อย่างไรก็ไม่มีทางเข้าใจได้หมด เพราะจําเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานมากกว่า
1 ภาษาเป็นทุนเดิม


แต่ที่สําคัญในเรื่องภาษาจริงๆคือ สําเนียง เรียกได้ว่ามันคือ DNA ของภาษานั้นเลยทีเดียว
เมื่อไหร่ที่เรายังไม่มี DNA ของภาษาก็จะทําให้ภาษาที่สร้าชออกมาไม่สละสลวยสมบูรณ์
หรือ ไม่โดดเด่นนั่นเอง การแต่งคํา สร้างกลอน สร้างสํานวน เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของภาษาให้
โดดเด่น แต่ชุดคํา และรูปแบบมักจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเสมอ สิงที่เปลี่ยนภาษาทุกวันนี้ไม่ใช่
ตัวภาษา สิ่งที่เปลี่ยนจริงๆคือรูปแบบของการใช้ภาษา เพื่อทําให้ดูใหม่ตามยุคตามสมัยต่างหาก
จนบางคนเข้าใจว่ามันเป็นภาษาใหม่ไปแล้ว หากแต่มันคือรูปแบบของภาษาเก่าที่นํามาใช้ใหม่
ตามจุดประสงค์ของยุคสมัย อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่รู้จักรากของภาษาเก่าก็จะไม่มีวันเข้าใจภาษา
ใหม่ๆที่ สร้างขึ้น หรือ แม้แต่ประโยคง่ายๆก็ยากที่จะเข้าใจ ..




วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พื้นเต้นนั้นสำคัญไฉน ?

สวัสดีครับ


วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องของฟลอร์ที่แตกต่างซึ่งทำให้ style ของเราต้องปรับสภาพไปตาม
พื้นที่นั้นๆครับ ซึ่งในบางสถานะการณ์ เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะต้องเต้นกับพื้นแบบไหน ซึ่ง
ตามความคิดของผมคิดว่าถ้าเราสามารถเต้นได้กับทุกพื้นผิวนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในกรณีที่เราเกิด
สถานะการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น ต้องเต้นโชว์บนพื้น Concrete (พื้นปูน) ซึ่งเป็นพื้นผิวที่ไม่ราบรื่นเหมือน
กับพื้นปกติที่เราใช้ซ้อมเต้นกัน เราจึงไม่สามารถที่จะใช้ท่าที่ใช้การสไลด์ หรือ ท่าที่ใช้การไถได้ดีนัก
เนื่องด้วยพื้นผิวที่ขรุขระ และด้าน อาจทำให้เราไม่สามารถทำท่าต่างๆที่ฝึกซ้อมมาได้อยากถนัดนัก



พื้นผิวที่นักเต้นมักจะพบเมื่อจะต้องเต้นโชว์มีหลายแบบดังนี้



พื้นไม้ปาร์เก้ หรือ พื้นไม้

พื้นไม้เป็นพื้นที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ใช้สำหรับเต้นได้ดีที่สุด เนื่องด้วยวัสดุของพื้นเป็นวัสดุที่มีความหนา
แน่นน้อยกว่าพื้นหลายๆชนิด และเป็นพื้นที่ห้องซ้อมเต้นส่วนมากนิยมใช้ปูไว้ในห้องซ้อมเต้นเนื่องด้วย
ประโยชน์ในการซึมซับแรงกระแทกได้ดี เมื่อโดนเหงื่อหรือน้ำก็สามารถแห้งได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้สภาพ
อากาศจะร้อนชื้นก็ตาม ถ้าเราได้ซ้อมหรือได้โชว์เต้นบนพื้นไม้ก็จะเป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสบายมาก
กว่าพื้นอื่นๆ แต่พื้นชนิดนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ เวลาโดนน้ำนาน ก็จะเกิดการพองตัวได้ ทำให้พื้นไม้
ที่ปูอยู่นั้นอาจไม่เสมอกันในเวลาต่อมา แต่รวมๆแล้วพื้นชนิดนี้ค่อนข้าง Perfect ครับ !



พื้นกระเบื้อง

พื้นกระเบื้องเป็นพื้นที่เราสามารถหาทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน และ ที่อื่นๆ พื้น
แบบนี้จะสามารถหาซ้อมได้ง่าย เป็นพื้นที่กันกระแทกเวลาเต้นได้รองลงมาจากพื้นไม้  เมื่อพื้น
ผิวโดนน้ำ หรือ เหงื่อ ก็จะแห้งได้ช้ากว่าพื้นไม้มาก และค่อนข้างลื่นเมื่อโดนน้ำ จะเป็นปัญหามาก
ถ้าบริเวณนั้นมีอากาศร้อนมากๆ เพราะจะทำให้เหงื่อของเราออกมาก และ อาจะทำให้พื้นลื่นได้
จึงต้องระมัดระวังเวลาที่เหงื่ออกพอสมควร อีกข้อหนึ่งของพื้นกระเบื้องที่เป็นปัญหาอยู่บ้างก็คือ
รอยต่อของพื้นกระเบื้อง ที่มีความถี่ แต่มักจะไม่ลึกมาก ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหากับท่าที่ใช้ศีรษะ
ไถกับพื้นไปบ้าง แต่รวมๆก็ใช้ได้อยู่ดีครับ




พื้นพรม

พื้นพรมเป็นพื้นส่วนมากที่ใช้ในการปูบนเวที ตามงานต่างๆหรือ บนพื้นตามงานต่างๆ ซึ่งเราอาจจะได้
พอกับมันบ้างในบางโอกาศ แม้จะไม่บ่อยนัก แต่มันก็มักจะฝากรอยแผลที่สวยงามไว้ตามตัวของเรา
พรมถ้าปูอย่างตึง ก็จะมีคุณสมบัติในการสร้างความลื่นและความหนึบให้กับรองเท้าได้ในเวลาเดียวกัน
แต่มันก็จะทำให้เข่า (ในกรณีใส่กางเกงขาสั้น) , ศอก และ หัวไหล่ (สำหรับคนที่ใส่เสื้อแขนกุด
หรือเสื้อกล้าม) ของเราเกิดแผลไหม่ๆตามตัวได้ขึ้นอยู่กับการกดน้ำหนักของเรากับท่านั้นๆ เพราะฉนั้น
ถ้าเรามีโอกาศได้เต้นกับพื้นแบบนี้เราควรจะเลือกท่าที่เหมาะสมกับการเต้นบนพื้นพรม แล้วใช้งาน
หรือถ้าเลือกไม้ได้ก็ควรหาเสื้อผ้าหรือเครื่องป้องกันที่เหมาะสมตามสถานะการณ์




พื้นปูนซีเมน (Concrete)

พื้นนี้เป็นพื้นที่มีความหนาแน่นสูง และมีพื้นผิวที่เราไม่พึงประสงค์ คือ "ขรุขระ"  ด้วยหลายๆอย่างของ
มันทำให้เราต้องปรับรูปแบบของการเต้นของเรามากขึ้น จากที่ใช้เข่าได้ ใช้ศอกได้ ก็ต้องใช้อย่างอื่น
แทน พื้นคอนกรีตไม่ได้ฝากแค่รอยไหม้ไว้อย่างเดียว อาจจะฝากรอบแผลถลอกปอกเปิกได้ด้วยทีเดียว
แต่ยังอย่างไรก็ตาม พื้นคอนกรีต ก็เป็นพื้นที่ B-boy หลายๆคนนิยมใช้ซ้อมเต้นกันเนื่องจากสามารถ
ทำให้เราควบคุมรางกายของเราในการเต้นได้ดี สามารถหยุดได้ดี ไม่ลื่น และเราจำเป็นที่จะต้องวาง
น้ำหนักของร่างกายตัวเองให้เบากว่าปกติที่ควรจะเป็น ดังนั้นการซ้อมหรือโชว์บนพื้นชนิดนี้จึงเป็น
ความท้าทายอย่างหนึ่งของหลายๆคนเลยทีเดียว




พื้นผิวหลายๆพื้นผิวเป็นแค่ตัวอย่างหลักๆ ที่เราใช้เต้นกันอยู่เป็นประจำ บางครั้งมันเหมือน
ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่ ส่วนใหญ่ทุกครั้งก็มักจะเป็นปัญหาของเราไม่มากก็น้อย ดังนั้นเราควรรู้
ถึงธรรมชาติของพื้นชนิดต่างๆที่เราใช้เต้น เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวเตรียมใจได้ถูกใน
การเต้นทุกๆครั้ง

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภาพในอดีต part 2

วันนี้มาต่อกันอีกหน่อยครับกับภาพในอดีตที่หลายๆคนอาจจะไม่เคยเห็นหรือจำไม่ได้เราจะมา
ย้ำเตือนความทรงจำกันอีกครั้งด้วยภาพชุดนี้ครับผม ไม่ต้องพูดพรั่มทำเพลงไปดูเลยดีกว่า




พี่ตั้ม Newschool หรือ คริส (Newschool,662)


พี่การ หรือ Kato (662,Spin Control)


บรรยากาศบริเวณลานหน้าร้าน KOB SKATE SHOP ชั้น 7 MBK ในสมัยนั้น


งาน Channel [V] Street Hi-Fi challenge โดย Spin Control และ Newschool






เขยิบมาอีกหน่อยกับ งาน B-battle of Thailand เป็นงาน B-boy 3 on 3 ที่จัดชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งแรก


บรรยากาศของงาน ในลานของห้าง Seacon Square

เวทีใหญ่ไม่แพ้กับเชียร์ลีดเดอร์เลย มีพี่อาร์ท AsiaArt และ พี่จูเนียร์ พระสุเมรุ crew เป็น MC


ภาพถ่ายรวมของหลายๆคนทั้ง Ground Scatter ,พี่ป๊อป ,พี่เอ้ และกรรมการจากเกาหลี
 คือ Rookie และ Min จาก Drifter crew



พิเศษ crew และ Yoshi บีบอยจากญี่ปุ่น


ภาพของ พิเศษ crew ประกอบไปด้วย พี่โอมาน ,พี่มล , และ ชีโน่ (ผมเอง)




วันนี้เอาแค่นี้ก่อนครับพอหอมปากหอมคอกันไปครับผมเดี๋ยวคราวหน้าจะมา Update ความรู้กัน
เกี่ยวกับ B-boy และ Hip-Hop ให้เพื่อนๆได้อ่านได้ชมกันอีกครับวันนี้ขอราตรีสวัสดิ์ครับ ;)

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ภาพจากในครั้งกาลก่อน ..

วันนี้ผมจะเอารูปสมัยก่อนๆมาให้ชมครั้งที่มีงานแข่งเต้น และ ภาพของหลายๆคน
ที่เริ่มเต้นมาตั้งแต่แรก วันนี้ผมขอไม่พิมพ์อะไรมากให้รูปเล่าเรื่องแทนแล้วกันครับ ;)


ภาพชุดแรกเป็นภาพงานแข่งที่คลับแห่งหนึ่งที่ RCA เมื่อนานมาแล้ว


ภาพนี้คือ พี่ Tob จากทีม Style Tripple F ครับ



ถ้าผมจำไม่ผิดสองคนนี้คือ พี่เป้ White Trash และ พี่หม้อ Newschool ครับ 


ให้เดาดีๆครับว่าคนนี้เป็นใคร ??? คนนี้คือ B-boy Gonza นั่นเอง 



คนนี้คือ พี่มล หรือ Mmon ทีม Style Tripple F กำลัง ทำท่า Hallow back



พี่ Oman ทีม Style Tripple F หรือ ทีม Prasumain crew ในปัจจุบัน



คนนี้คือ พี่ป๊อป ppKidz จากทีม Spin Control หรือ Pop'n roll จากทีม Romeo Zerious ในปัจจุบัน   





ภาพอีกชุดเป็นภาพมาจากงาน Redbull Eminem Graffiti contest ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ครับ

นี่คือ ผมเอง ฮ่าๆๆๆ B-boy Cheno (Ground Scatter,99Flava)


พี่คนนี้คือ พี่เธียร์ หรือ Teartee (Spin Control)


พี่ป๊อปกำลังทำ Headspin tap


พี่ตั้ม หรือ พี่ คริส Newschool กำลังทำ Continues Airflare


ภาพชัดๆของพี่ตั้มครับ ทางขวามือคือ พี่ อาร์ท หรือ Asia Art ของเรานี่เอง 


Exhibition battle กันในสมัยนั้นครับมีหลายคนด้วยกัน มีผม พี่เอ้ ,พี่โจ้ tatoo ,พี่วี Ground Scatter  ฯลฯ


ฝั่งนี้มี พี่เอก Spin Control ,พี่การ Spin Control ,พี่หนึ่ง ,พี่ตั้ม Newschool , พี่เธียร์และ พี่ป๊อปครับ


พี่ป๊อปกำลังทำ Footwork ครับ


ผมกำลังทำ 1990's


ท่านี้เรียกว่า Gainer ครับ

นี่คือ พี่อาร์ท หรือ Asia Art (Spin Control) ครับ


หลังจากการ Battle ก็มีการกอดกันหน่อย พี่โอมานยิ้มหวานเชียวครับ อิอิ


หลังจากเสร็จแล้วทุกๆคนก็จะรวมตัวกันดูวีดีโอครับ



วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อนครับกับภาพในวันวานที่ผ่านมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วของ ชาว B-boy 
จาก ชั้น 7 MBK ร้าน Kob Skate shop เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมา update กันต่อครับผม  





ปล. ขอขอบคุณพี่ๆทุกๆคนทั้งพี่โอมาน ,พี่ป๊อป ,พี่เธียร์ ,พี่ตั้ม ,พี่การ ,พี่อาร์ท และทุกๆคนที่ผม
       ไม่ได้กล่าวถึง ขอขอบคุณมากๆครับ ภาพดังกล่าว เอามาเพื่อให้เป็นการศึกษาสำหรับเด็ก
        รุ่นต่อไปให้ได้รู้จักกับ B-boy รุ่นบุกเบิก มิได้มีเจตนาอื่นใด ขอบคุณมากครับสำหรับทุกภาพครับ 






วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

Thai B-boy History

วันนี้จะมาพูดถึงประวัติของ B-boy ในประเทศไทยว่าเข้ามาได้อย่างไร อาจจะไม่ละเอียดนักแต่ผม
สามารถเล่าได้คร่าวๆตามความรู้ของผมที่ได้เรียนรู้และรู้จากหลายๆคนมา

บ้านเราเริ่มมีการเต้น Breakdance เข้ามาตั้งแต่สมัยช่วงสงครามเวียตนามครั้งที่ประเทศอเมริกา
อาศัยบ้านเราเป็นฐานพักกำลังชั่วคราว คาดว่านะจะเข้ามาจากทหารอเมริกันนำมาเต้นกันในยุคนั้น
ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าครั้งแรกของการมี B-boy หรือ Breakdance ที่นี่ แต่ข้อมูลนี่ยังไม่มีการพิสูจน์
ทราบแน่ชัดแต่สามารถเป็นกรณีสังเกตุได้

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2528 (1985) การเต้น Breakdance ก็ได้มีความนิยมแพร่หลาย
ด้วยแนวดนตรีในยุคนั้นซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กวัยรุ่นในสมัยนั้นมาก จึงมีท่าที่นิยมเล่นต่างๆมากมาย
ซึ่งได้แก่ ท่ากังหัน(Windmill) ,ท่าหนอน(Worm) , Wave (การเต้น wave ใน style Popping ) ,Robot
(การทำท่าเลียนแบบหุ่นยนตร์) เป็นต้น ส่วนมากวัยรุ่นในสมัยนั้นจะเต้นกันแบบเต้นได้ คนละท่า
สองท่า เพื่อเอาไว้อวดสาว และใช้เต้นเพื่อความสนุกสนานไปตามยุคสมัยไม่ได้ทำจนเป็นจริงจัง
 สมัยก่อนยังไม่มีคำว่า B-boy ใช้แต่คำว่า Breakdance ตามชื่อเรียกของสื่อในอเมริกา ยุคนั้นเป็นช่วง
ที่วง Rock Steady crew ก็กำลังมี album เป็นของตัวเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลมากสำหรับ
Pop culture ในช่วงนั้น


ต่อมามีนักเต้นหลายคนนำมาพัฒนาจนกลายเป็นอาชีพ ไว้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ทั้งนำไปเต้นในคลับ
และนำมาเต้นกับศิลปิน ซึ่งมีอยู่หลายต่อหลายคน พี่ต้น DC, พี่ผี และ พี่เล็ก ซึ่งหลายท่านที่ผมกล่าว
ถึงนี้ได้เป็นผุ้ที่ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นแรงบรรดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆในเวลาต่อมา


ประวัติในกรุงเทพฯ


MBK ชั้น 7 และ Kob Skate shop

ถ้าพูดถึงในกรุงเทพฯแล้วมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการเต้น B-boy มาเป็นเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่
ที่แรกที่ผมเคยเห็นคือ ที่ ศูนย์การค้า MBK ชั้น 7 บริเวณ ลานหน้าร้าน "KOB SKATE SHOP" ซึ่ง
เป็นสถานที่ๆเด็กสเก็ต(เด็กที่เล่นสเก็ตบอร์ด) และ B-boy มักจะมารวมตัวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ตอนเย็นของทุกๆวันเสาร์และอาทิตย์ ประมาณ 5 โมงเย็นไปจนถึงดึก ก็จะมี B-boy มารวมตัวกันเพื่อ
ซ้อมเต้นเป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีเยอะมาก มีราวๆ 10-15 คน ได้ แต่ในช่วงนั้นแค่นี้ก็ถือ
ว่าเยอะแล้ว กลุ่มที่อยู่บริเวณนั้นแรกๆ มีชื่อว่า New school breaker เป็นทีมที่ถือได้ว่าเป็นที่แรกๆที่เรา
สามารถเห็นได้ในตอนนั้น โดยมีหัวหน้าทีมชื่อว่า "พี่ตั้ม (Chris Newschool)"  และอีกทีมที่ขาดไม่ได้ คือ ทีม "Spin Control crew" เป็นทีมที่เป็นรุ่นถัดมา ซึ่งทั้งสองทีมได้สร้างชื่อเสียงมากมายให้กับวงการ
การเต้น B-boy ในยุคนั้นจนเป็นที่รู้จัก เช่นงาน ประกวดเต้นของ " Channel [V] Street Hi-Fi " เป็นต้น
สมัยนั้น B-boy เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเด็กรุ่นใหม่แต่แค่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ยุค
นั้นเป็นยุคแรกๆเลยก็ว่าได้ ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มกันจนกลายเป็นชื่อทีมใหม่ว่า "662 Breakerz"



BTS 

ต่อมามีการแตกกลุ่มออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า "BTS" เนื่องจากเรียกกันตามชื่อสถานที่ซ้อมเต้น
บริเวณบนสะพานคนเดิน Skywalk ตรงหน้า Tokyo (MBK) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถานีรถไฟฟ้า BTS
"สนามกีฬาแห่งชาติ" และกลายเป็นที่ซ้อมตราบมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้ถูกเรียกว่ากลุ่ม BTS ตามชื่อ
สถานี่ซ้อม ซึ่งมักจะมีการผิดใจกับกลุ่มที่อยู่บนชั้น 7 ของ MBK อยู่บ่อยๆ จนเกิดการ Battle อยู่บ่อยครั้ง
เป็นที่รู้กันในหมู่ B-boy ว่าคนที่ซ้อมชั้น 7 จะไม่ยุ่งกับคนที่ซ้อมที่ BTS และคนที่ซ้อม ที่ BTS ก็จะไม่ไป
ยุ่งกับคนที่ซ้อมชั้น 7 เช่นกัน ตามประสาของวัยรุ่นเพียงเท่านั้น กลุ่มที่ซ้อมอยู่ตรงนี้มีหลายกลุ่มด้วยกัน
คือ ทีม C-Cool และ Platinum crew แต่ปัจจุบันสถานที่นี้ได้กลายเป็นสถานที่ซ้อมของกลุ่มหลายกลุ่ม
ซึ่งมาผลัดเปลี่ยนกันใช้มานานนับ 10 ปี



ป้อมพระสุเมรุ

เมื่อเวลาได้ผ่านไป ได้มีกลุ่มใหม่ที่แยกตัวออกมาจากชั้น 7 MBK ไปซ้อมอีกที่หนึ่งแต่กลุ่มนี้ไม่ได้มี
ปัญหาอะไรกับใครเพียงแต่อยากซ้อมในที่ๆใหม่เท่านั้นกลุ่มนั้น มีชื่อว่า "Style Triple F" ซึ่งมีสมาชิก
3 คน หลักๆคือ พี่มล (M-mon) ,พี่ต๊อบ (Tob) และ พี่โอมาน (Oman) ซ้อมกันอยู่ที่
 สวนสันติชัยปราการ หรือเรียกอีกชื่อว่า "ป้อมพระสุเมรุ"  บริเวณ ถนนพระอาทิตย์ ใกล้ๆ
ตรอกข้าวสาร กลุ่มนี้เป็นอีกหลุ่มหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงภาพรวมของ B-boy ไปอีกรูปแบบเลยทีเดียว
เนื่องจากได้มีการทำท่า Footwork กันมาก ในกลุ่มนี้จึงเกิดเป็นการกระตุ้นให้เด็กที่ฝึกใหม่อยู่ที่
ป้อมพระสุเมรุได้มีการฝึกการเต้น Basic ที่ถูกวิธีมากขึ้นเนื่องจากสมัยก่อนการเต้น B-boy มีแต่การทำ
 ท่า Powermove และ Freeze เป็นส่วนใหญ่ การทำ Footwork ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดไปมาก
เหมือนปัจจุบัน แต่ที่นี่เป็นที่แรกๆที่เห็นความสำคัญของ Basic ตรงนี้เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่แรกที่
ให้แรงบรรดาลใจกับคนที่เต้นในยุคนั้นและยุคต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลง


การ Battle ใน สมัยนั้น
การเต้นในสมัยนั้นการซ้อมอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอก็จะมีการ Battle กันในบางโอกาศ เป็นการ
Battle กันเองบ้างหรือบางครั้งเป็นการท้าทายจากกลุ่มอื่นบ้างก็มี การ Battle ในสมัยก่อนค่อนข้างจะ
เอาเป็นเอาตาย ไม่ใช่การ Battle กันแบบเล่นๆแต่เป็นการ Battle เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าใครดีกว่าจริงๆ
ดังนั้นการ Battle จึงไม่ใช่การจับคู่กันสนุกๆอย่างเดียวเมื่อเกิดการท้าทายกันขึ้นโดนส่วนมากจะ Battle
กันแบบตายไปข้างนึง แบบครึ่งชั่วโมงก็ไม่จบ มีพักยกแล้วเอาต่อก็มี ไม่ยอกเลิกราง่ายๆจนกว่าอีกฝ่าย
จะท่าหมดหรือหมดแรงไปในที่สุด


การแข่งขันในยุคแรก
การแข่งขันสมัยก่อนมีน้อยมากซึ่งส่วนมากจะเป็นการแข่งขันที่จัดกันตาม Hip-Hop ปาร์ตี้ในคลับ
และมักจะเป็นการจัดปาร์ตี้ที่มี MC ,DJ,Graffitti และ B-boy อยู่จริงๆซึ่งทุกคนจะได้คุยกันแชร์ความคิด
กันซึ่งเป็นการอยู่ร่วม 4 Elements กันจริงซึ่งเดี๋ยวนี้ค่อนข้างหายากแล้ว และการแข่งขันบางครั้งก็มักจะ
จัดกันเองโดยมีเงินรางวัลไม่มากนักเช่น การแข่งขันที่สะพานพุทธ เป็นต้น

ต่อมามีการพัฒนาซึ่งส่งเสริมจาก Sponsor ที่เป็นผู้จัดจริงๆ ซึ่งได้แก่ งาน Seacon square หลายๆครั้ง
ทั้งแบบ 3 vs 3 และแบบเดี่ยว ซึ่งจะมีการจัดการแข่งขันกันอยู่เป็นประจำ หรือแม้แต่ตามงานแข่ง Graffiti
หรือจักรยาน Flat land ก็มักจะมีการแข่งขัน B-boy ควบคู่ อยู่ เช่นกัน


การแข่งขันระดับประเทศ
การแข่งขันระดับประเทศได้เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกคืองาน"Chiclet Seacon 3 on 3 B-boy Battle" ซึ่งเฟ้นหาเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันและไปหาประสบการณ์ต่อที่กรุงโซล
ประเทศเกาหลี ผู้ชนะ คือ ทีม Pised crew (พิเศษ crew Cheno,Oman,Mmon)  ต่อมาได้มีการแข่งขัน
ที่ใหญ่ขึ้นเรียกว่าการแข่งขัน Battle of the year Thailand  โดยมี พี่กิ๊ก ปรวรรษธ กฤษณมะระ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ BATTLE OF THE YEAR THAILAND & SOUTHEAST ASIA นับตั้งแต่ปี 2004
เรื่อยมา แต่เมื่อปี 2008 พี่กิ๊กได้จากเราไปด้วยอาการป่วยเป็นโรคมะเร็ง ในวันที่ 1 สิงหาคม  พี่กิ๊กได้สร้างงานนี้ขึ้นมาให้กับเด็กๆ B-boy รุ่นหลังเพื่อจะได้เป็นแรงผลักดันเยาวชน B-boy ,B-girl ต่อไป
มาจนถึงทุกวันนี้



การจัดงาน Battle of the year Thailand ตั้งแต่ที่เคยมีมา

BOTY SEA 2004
 1) TBC (Taiwan)
 2) Spin Control (Thailand)
 3) Ground Scatter crew (Thailand)

BOTY Thailand 2005
1) Ground Scatter crew
2) 662 (Spin Control crew)
3) Evertrack Force crew


BOTY Thailand 2006
1) Ground Scatter crew
2) Spin Control crew
3) Platinum crew 


BOTY Thailand 2007
1) Ground Scatter crew
2) Platinum crew
3) One Piece crew

BOTY Thailand 2008
1) Romeo Serious crew
2) BeatHeroes crew
3) Prasumain crew

BOTY Thailand 2009
1) 99Flava crew
2) Romeo Serious crew
3) Platinum crew

BOTY Thailand 2010
1) 99Flava crew
2) Romeo Serious crew
3) One Piece crew




การสร้างชื่อเสียงระดับ International ของ B-boy ไทย

การสร้างชื่อเสียงของ B-boy ไทยที่เด่นชัดที่สุดเริ่มมีมาตั้งแต่สมัย ปี 2005 ,2006 และ 2007
จากการคัดเลือกตัวแทนซึ่งเป็น แชมป์ประเทศไทย ประเภททีม จากงาน  BATTLE OF THE
 YEAR THAILAND ทำให้ทีมไทยได้เป็นตัวแทนภูมิภาค South East Asia  ถึง ในปี 2005
ไปแข่งขันงาน Battle of the year International 2005 ที่ เมือง Braunswiege  ประเทศ Germany
ได้อันดับที่ 11 จาก 20 ประเทศทั่วโลกในปีแรก (2005) และ ปีถัดมา คือปี 2006 ทีมไทยได้
เป็นตัวแทนภูมิภาค South East Asia อีกครั้งไปแข่งขันงาน Battle of the year International 2006
ที่ เมือง Braunswiege  ประเทศ Germany เป็นครั้งที่ 2 และได้อันดับที่ 10 จาก 20 ประเทศทั่วโลก
กลับมา และปีสุดท้ายคือ 2007 ทีมไทยได้ติด 1 ใน 3 ทีม จากงาน Battle of the year Asia  2007
โดยจัดที่กรุง Busan ประเทศเกาหลี  และเป็นตัวแทน ประเทศจากทวีปเอเชีย ซึ่งได้แก่ เกาหลี
, ญี่ปุ่น และ ไทย ไปแข่งขันที่งาน Battle of the year International 2007 ที่ เมือง Braunswiege 
ประเทศ Germany เป็นครั้งที่ 3 และได้ อันดับที่ 5 จาก 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ
ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทีมนี้เป็นแชมป์ประเทศไทยติดต่อกันถึง 3 สมัยซ้อน
ทีมนี้มีชื่อว่า "Ground Scatter Crew"

นอกเหนือจากนั้นยังมีงานแข่งที่คนไทยเราไปแข่งมาแล้วชนะเลิศมาด้วยได้แก่
"Circle Prinz Japan 2010" ซึ่งบ้านเราได้เป็นทีมที่ถูกเชิญไปแล้วชนะกลับมา
โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นไปแข่งขันต่อที่งาน "Circle Kingz 2010"
ที่เมือง Lausanne ประเทศ Switzerland และติด 1 ใน 8 ทีม อีกด้วย คือ
B-boy Cheno และ B-boy Gonza  จากทีม 99Flava crew





อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ ขอให้ทุกท่านจดจำแต่สิ่งดีๆของมันและเดินรอยตามมัน
สิ่งไหนที่ไม่ดีที่ผิดพลาดก็เก็บไว้เตือนสติ ทุกๆคนที่เป็น B-boy ,B-girl ที่อยู่ที่นี้ล้วนสร้างประวัติศาสตร์
ไว้ให้กับคนรุ่นต่อๆไป ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถที่จะให้อะไรกับสังคมของเราและคนอื่นๆได้มากน้อยแค่
ไหนจากสิ่งที่เราเป็น คนทุกๆคนล้วนมีคุณค่าสามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายไม่ใช่เพียงกลุ่มใด
หรือใครคนหนึ่ง เรามาช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ที่สวยงามและน่าจดจำให้กับโลกใบนี้กันเถอะครับ !





B-boy Cheno
99Flava,Ground Scatter

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

B-boy ไม่มีสาย (อีกซักที)

กลับมาอีกครั้งกลับการเขียนของผม วันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องเดิมๆที่เคยพูดคุยกันอยู่เป็นประจำ ในเรื่องของ
การเต้น B-boy,B-girl ในเรื่องของการแบ่งแยกสายและ style ต่างๆ  หลายๆคนที่เพิ่งจะเริ่มเต้นหรือ
ไม่เคยเต้นมักจะมีความสงสัยในเรื่องของ การแบ่งสายเนื่องด้วยความหลากหลายของรูปแบบการเต้น
ที่มีมากมายอยู่ในปัจจุบัน ก่อนอื่นจะ อธิบายคร่าวๆในเรื่องของพื้นฐานองประกอบของการเต้นหรือ
คำว่า Foundation ให้เข้าใจกันชัดๆอีกครั้งหนึ่งครับ



Toprock  คือ การเต้นที่เป็นองประกอบแรก เป็นการเต้นแบบยืนเต้นโดยจะใช้เท้า,มือ
                      และการขยับร่างกายช่วงบน เพื่อเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของผู้เต้นว่าเป็นเช่นไร

Downrock หรือ Footwork  คือ การเต้นที่เป็นองประกอบที่ 2  เป็นการเต้นที่อยู่ด้านล่าง แบบนั่งยองๆ
                                               โดยจะใช้มือค้ำอยู่ที่พื้น โดยใช้ทั้ง สเต็ปเท้า และการใช้มือประกอบกัน

Freeze คือ  องประกอบที่ 3 ของการเต้นชนิดนี้ ใช้เพื่อเป็นท่าจบ เหมือนกับการ Pose ท่าถ่ายรูปหรือ
                  อาจจะเป็นท่าที่ใช้มือค้ำที่พื้น และหัวแตะพื้น แต่มันจะเป็นท่าที่ไว้ใช้จบด้วยการหยุดอยู่
                  กับที่ เหมือนกับการถูกแช่แข็ง

Powermove คือ องประกอบสุดท้ายซึ่งเป็นองประกอบเสริมของการเต้นชนิดนี้ที่ทำให้การเต้นมีพลัง
                         และมีความโดดเด่น น่าสนใจขึ้นมา เป็นท่าที่ใช้พลังของแขนและขา โดยอาศัยการ
                         เหวี่ยงร่างกายให้หมุนในรูปแบบต่างๆ


นั่นเป็นคำอธิบายถึงองประกอบแบบคร่าวๆ ที่ทุกคนควรจะเข้าใจ องประกอบทั้งหมดนั้นล้วนต้องมีความ
สัมพันธ์กัน มิใช่แบ่งแยกไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจึงไม่มีการแบ่งสายการเต้น อย่างที่หลายๆคนคิด
กันไปเอง ที่จะมีก็แต่ การแบ่งเป็นการแข่งขันความถนัดของ องประกอบการเต้นเช่น





Toprock battle คือ การแข่ง Toprock เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการทำอย่างอื่นเลย โดยส่วนมาก
                             จะตัดสินกันที่ทักษะในเรื่องการใช้อารมณ์การเต้นกับเพลงรายละเอียดของ
                             การเต้น ความคิดสร้างสรรค์ของท่า และ การเก็บจังหวะ  และจะเต้นอยู่ด้านบน
                             เท่านั้นใน รูปแบบของการเต้นของ Toprock เป็นหลัก

Footwork battle คือ การแข่ง Footwork เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการทำอย่างอื่นโดยที่หลัง
                                และลำตัว ของผู้เต้นจะไม่มีการสัมผัสพื้นเลยถ้าไม่จำเป็นจะมีเพียงแค่
                                มือ และขา เท่านั้นที่จะสัมผัสพื้น โดยไม่หลุดไปจากรูปแบบของ Footwork

Powermove battle คือ การแข่งเฉพาะ Powermove เพียงอย่างเดียวเท่านั้นโดยจะตัดสินจากท่า
                                   การต่อท่า ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อท่าและสร้างท่าใหม่ ไม่ใช่ความ
                                   ยากของท่าเพียงอย่างเดียว และไม่ได้วัดกันที่รอบหรือพละกำลังอย่างเดียว




เนื่องจากการเต้น B-boy คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามันคือกีฬาเพราะมันดูใช้พลังของร่างกายเยอะและดู
คล้ายยิมนาสติก แต่อันที่จริงแล้วมันคือศิลปะการเต้นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยได้
รับแรงบรรดาลใจมาจาก การเต้นชนิดอื่น กีฬา ศิลปะการต่อสู้ และนำมาสร้างเป็น style ใหม่ ได้อย่าง
ลงตัว จึงไม่แปลกนักที่หลายๆคนจะมักจะไม่เข้าใจว่าการเต้น B-boy คืออะไรกันแน่





การเต้นนั้นไม่มีการแบ่งสายแบ่ง style หากแต่มีการแบ่งแนวหรือชื่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายกันไปตามยุคสมัย
นั้นๆ อย่างเช่นการเต้นแบบ Abstract  ,Flexible style ,Power style ,Bronx style ,Origami style
,EVO style ฯลฯ  ซึ่งชื่อเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นในมุมมองของหลายๆคนที่
แตกต่าง แต่ทุก style ต่างก็มีแรงบรรดาลใจมาจากพื้นฐานแบบเดียวกัน หากถ้าเราแบ่ง style กันจริงๆ
แล้วในปัจจุบันคงจะมีเป็น ล้านๆ style เพราะหลายคนก็หลายแรงบรรดาลใจ ไม่สามารถนำมาแบ่งสาย
ได้อย่างที่หลายๆคนกล่าวอ้าง เพราะถ้าแบ่งจริงๆมันก็คงจะไม่ใช่การเต้น B-boy แล้วหากแต่เป็นอย่าง
อื่น อย่างที่บอกก็คือชื่อต่างๆทำให้คนเราเข้าใจในรูปแบบ style นั้นๆง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควร
จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเต้นชนิดนี้ด้วยว่ามันมีที่มาอย่างไรและเป็นอย่างไรมาก่อนเพื่อ
ความเข้าใจและนำไปประยุกต์และสร้างสรรค์รูปแบบ style ของตนเอง สายนั้นจึงไม่มีอยู่จริงๆ เป็น
มีเพียงแต่ style ของแต่ละบุคคลเท่านั้นที่บ่งบอกว่าคนๆนั้นเป็นใคร




Style คือ ความรู้สึกของบุคคลนั้นๆที่สื่อผ่านการเต้น จนกลายเป็นภาพรวมส่วนประกอบของท่า
                และวิธีการต่อท่าต่างๆ จนทำให้บุคคลนั้นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง



สามารถรับข้อมูลข่าวสาร B-boy & B-girl
หรือ อยากจะสมัครเรียนเต้นได้ที่นี่ครับ

http://www.facebook.com/bboycheno99flava/


- B-boy Cheno (ชีโน่)

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

E A R T H !

มนุษย์สัตว์ชนิดเดียวที่มีวิวัฒนาการทางสติปัญญาที่สูงส่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ
มนุษย์ค้นพบความหมายของตัวตน ตั้งแต่เริ่มสร้างอาณาจักรของตนเอง
วิวัฒนาการต่างๆของมนุษย์สร้างความสะดวกสบายให้กับพวกของตนเอง
มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ แต่กลับมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
มากที่สุดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว บางครั้งการสนองความต้องการต่างๆของตนเอง
ก็มากจนเกินไปเนื่องด้วยความคิดที่ว่าเราเป็นสัตว์ที่ทรงปัญญาที่สุดเท่าที่เคยมีมา
(เฉพาะในโลกใบนี้) ด้วยเหตุนี้ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองได้ครอบครองโลกใบนี้
อย่างสมบูรณ์มาช้านาน หากแต่พวกเขาลืมไปว่า พวกเขาเป็นเพียงส่วนประกอบ
เล็กๆของโลกใบนี้เพียงเท่านั้นเอง




สึนามิที่ญี่ปุ่น คือการเตือนเล็กๆของโลกใบนี้เท่านั้นเอง โลกใบนี้ไม้ได้ต้องการ
อะไรจากเราแต่ธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างต้องการเพียงแค่การปรับสมดุลย์
ตามเหตุและปัจจัยต่างๆที่มากระทบ มนุษย์ใช้ทรัพยากรจากพื้นดิน อากาศ น้ำ
ต้นไม้ สัตว์อื่นๆมากมาย บางครั้งมันมากจนเกินความจำเป็นของสัตว์ธรรมดาๆ
อย่างเราๆ เราเบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไปรึป่าว ?



สิ่งที่เราสามารถทำได้ในวันนี้คือชะลอการเกิดเหตุต่างๆ ของโลกที่กำลังปรับสมดุล
เพียงเท่านั้น มนุษย์ในวันนี้เริ่มคิดกันแล้วหรือยังว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดนอกจากเงินทอง
ทรัพยากร ความสุขสบาย ...



มุนุษย์คิดว่าตนเองนั้นมีค่า แต่กลับมองว่าหลายๆอย่างมีค่าน้อยกว่าตน (ด้วยการกระทำ)
ซึ่งสังคมของเราส่วนใหญ่มิได้ทำเพื่อการอยู่รอดอย่างแท้จริงหากเพียงแต่ทำเพื่ออำนาจ
เงินทอง ซึ่งโดยรูปธรรมแล้วมันไม่มีค่าเท่ากับชีวิตของตนเลย เพียงแค่เราหันมาสนใจ
สิ่งรอบข้างสักนิด สนใจคนรอบข้างซักหน่อย มีสติ ในการใช้ชีวิตไม่หลงทางไปกับโลก
สร้างสำนึกจากตนเองก่อน และ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็จะค่อยๆเกิดขึ้น



วันนี้คุณใส่ใจคนรอบข้างและโลกใบนี้แล้วหรือยัง ?







PEACE TO JAPAN 
Cheno,99Flava

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

It's just begun !

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีกระแสเกี่ยวกับเรื่องของ Streetdance ขึ้นมาอย่างมากมาย เนื่องด้วยภาพยนตร์ต่าง
ประเทศหลายเรื่องที่ทำเกี่ยวกับการเต้นในสไตล์นี้โดยตรง หลายๆคนอาจจะยังคงสับสนและไม่เข้าใจ
กับคำว่าเต้น Hip-Hop ,B-boy และ Streetdance มันแตกต่างกันยังไงผมจะอธิบายให้เข้าใจคร่าวๆครับ !



Hip-Hop - คือวัฒนธรรมที่มาจากประเทศอเมริกไม่ใช่แนวการเต้น มีองประกอบ 4 อย่างคือ
                  B-boy = การเต้น Breakdance ใช้ท่ากลับหัวตีลังกาและท่าที่ลื่นไหล
                  MC = ผู้ที่เป็นเสมือนโฆษกในการจัด Party ต่างขณะเดียวกันสามารถ
                            ใช้เรียกนักร้อง Rapได้ด้วย
                  DJ = คนที่ทำหที่เปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงสองเครื่องและนำเพลงมาผสมเข้าด้วยกัน
                  Graffiti = คือการพ่นสีบนกำแพงได้รับอิทธิพลมาจากอันธพาลกวนเมืองที่เขียนชื่อ
                                  ของตนไว้บนกำแพงจมที่ต่างๆของเมือง แต่มีอีกพวกหนึ่งที่สร้างสรรค์เป็น
                                  ผลงานที่สวยงามเป็นตัวอักษรหรือภาพวาดที่ดูมีเอกลักษณ์ 
                  
                    ต่อมาวัฒนธรรม Hip-Hop ได้พัฒนาแนวดนตรี Funk ,Soul ,Jazz มาประยุกต์ให้เกิด
                    จังหวะกลองที่ช้าลงและสามารถ ร้อง Rap ใส่เข้าไปได้ จนเป็นเอกลักษณ์ ของ
                    ดนตรี Hip-Hop ในปัจจุบันและต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบการเต้นให้เข้ากับ
                   จังหวะดังกล่าวจึงเรียกกันว่าการเต้น "Hip-Hop"



Streetdance - เป็นคำที่คนไทยเราคุ้นหูกันมาไม่นานการเต้น Streetdance คือชื่อเรียกรวมๆของ
                       แนวการเต้นหลากหลายแนวซึ่งมีอิทธิพลมาจากการเต้น B-boy ,Popping และ
                        Locking ซึ่งสมัยก่อน ถูกเรียกว่า "Breakdance" เป็นชื่อที่สื่อในอเมริกาตั้งให้
                       กับการเต้นชนิดนี้ ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นการเต้นคนละรูปแบบและมีเอกลักษณ์
                       เฉพาะตัว ในที่นี้การเต้น Streetdance ไม่ได้จำกัดความเฉพาะการเต้น 3 ชนิด
                       เพียงเท่านั้น อาจหมายถึงการเต้นใดใดที่มาจาก ข้างถนน เนื่องจากคำนี้ใช้
                       เรียกการเต้นข้างถนน นั่นหมายถึงสไตล์การเต้นดังกล่าวเป็นส่วนมาก อาจ
                       หมายถึงการเต้น House ,Rocking ,Wacking ฯลฯ  ที่ได้รับวัฒนธรรมมาจาก
                       คนผิวดำในอเมริกา



B-boy -  การเต้นที่ผาดโผนใช้ทุกส่วนของร่างกายในการเต้นบนพื้น มีองประกอบหลักของการเต้น
              4 อย่าง คือ Toprock (การเต้นแบบยืนเต้น) Footwork (การเต้นแบบนั่งยองๆแล้วใช้แขนค้ำ
              ยันตัวไปรอบๆ) Freeze (การโพสท่าจบในรูปแบบต่างๆ) Powermove (ท่าหมุนตัวที่ใช้พลัง
               ของร่างกายสูง)  เป็นองประกอบหนึ่งของ 4 Elements ในวัฒนธรรม Hip-Hop ส่วนคำว่า
               "B-girl" คือคำที่ใช้เรียกคนเต้นในสไตล์นี้ที่เป็นผู้หญิง


เพื่อความไม่สับสนของหลายๆคนเพราะปัจจุบันมีหลายคนมากมายเข้าใจแบบผิดๆแล้วนำไปเรียก
ในแบบที่ไม่รู้และมักจะเข้าใจปะปนกันอยู่เสมอ แม้แต่ในบางโรงเรียนสอนเต้นก็มักจะใช้คำว่า
 Streetdanceในการเปิดคลาสสอนซึ่งในบางครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่าเขาจะสอนอะไรเราบ้าง เพราะมันมี
เยอะไปหมด ความแตกต่างของการเต้น Hip-Hop และ Streetdance นั้นอาจจะไม่มีความแตกต่างกัน
มากเนื่องจากการเต้น Hip-Hop เป็นการเต้นแบบผสมผสานซึ่งนำเอาสไตล์การเต้นรูปแบบต่างๆ
ของ Streetdance มาใช้ เช่น Popping, Locking,Wacking ,B-boy,House ,Krumping ฯลฯ  ดังนั้น
ในบางครั้งเราแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าความแตกต่างของมันคืออะไรหรืออาจจะแค่จังหวะเพลง
ที่ใช้เพียงเท่านั้น ?





ฝากเพื่อนๆพี่ๆน้องลองไปคิดไปสำรวจดูว่าสิ่งที่ผมพูดมันจริงรึปล่าวถ้าใครคิดแบบไหนลอง
Comment ไว้ด้านล่างนี่ได้เลยครับ ในฐานะที่ผมเป็น B-boy คนหนึ่งที่มองการเต้น Streetdance มานาน




^____^

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

The Father of Hip-Hop

สวัสดีครับทุกท่าน นี่เป็นการเขียน Blog ครั้งแรกใน Blogger ของผมเองขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติ
เข้ามาอ่าน ทั้งคนที่รู้จักผมและไม่รู้จักผม ผมเชื่อว่าการเขียน Blog ในนี้น่าจะช่วยให้หลายๆคนเข้าใจ
วัฒนธรรม Hip-Hop และ B-boy,B-girl รวมไปถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์หนึ่งคนอย่างที่ควรจะเป็น
ในแบบของคนๆนั้นได้มากขึ้น


จากโลกฝั่งตะวันตกที่ซึ่งหลากหลายอารยะธรรมจากหลายชนชาติมารวมกัน ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็น
ผู้นำของโลก ผู้พลิกเศรษฐกิจได้เพียงพลิกฝ่ามือ ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงประเทศ "สหรัฐอเมริกา"
ในโลกฝั่งตะวันตกที่แต่เดิมรับเพียงวัฒนธรรมจากชนผิวขาว จนกระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างได้
เปลี่ยนไป หลังยุคสงครามโลก อเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่มีทั้งผู้อภยพ และ ผู้แสวงโชคเข้ามาหากิน
กันอย่างมากมาย หรือแม้แต่ชนผิวดำจากแอฟริกาซึ่งเคยเป็นทาสจากยุคอาณานิคม ได้รับอิสรภาพ
ให้แสวงหาชีวิตใหม่ของตนเองได้เยี่ยงพลเมืองชั้นหนึ่ง (คนผิวขาว) ทั่วไปถึงแม้กระนั้นการเหยียดผิว
ในอเมริกาก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


 ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1969 ด้วยสภาพสังคมที่เสื่อมโทรมใน New York มีทั้งนักเลง, คนขายยา, โสเภณี
และปัญหาอาชญากรรมมากมาย ด้วยสภาพสังคมที่ยังครุกรุ่นในเรื่องการเหยียดผิวอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทำให้พลเมืองชั้นสอง (คนผิวดำ) มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทั้งในเรื่องของสาธารณูปโภค
ที่เป็นเพียงตึกแถวหลายชั้นที่ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ ไม่มีเครื่องทำความร้อน (สภาพอากาศของเมืองนี้หนาว
การที่ไม่มีเครื่องทำความร้อนนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากในฐานะพลเมือง) ทำให้เกิดการเดินขบวนและเรียก
ร้องสิทธิของคนผิวดำอยู่บ่อยๆ


ในย่าน Bronx ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาเปิด Party ขึ้นในเขตตึกที่อยู่อาศัยของตนเอง เรียกว่า
 "Block Party" ชายคนนี้มักจะขับรถเปิดประทุน และ นำลำโพงขนาดใหญ่สองตัวไว้ที่เบาะ
ด้านหลัง ขับไปทั่วเมืองพร้อมกับป่าวประกาศให้ผู้คนมาร่วม Block Party ที่ตนจัดอยู่เสมอๆ
ชายผู้นี้เรียกตัวเองว่า "Kool Herc"


ทุกๆครั้งที่มี Party ทุกคนจะสนุกสนานจนลืมสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของสังคมที่ตนอยู่อาศัย
Kool Herc ได้นำเครื่องเล่นแผ่นเสียงสองเครื่องมาเปิดถูกเรียกกันว่า "DJ" (Disc Jockey) และทำการ
เปิดพร้อมกันและทำการสร้างจังหวะด้วยเสียงกลอง และเสียงดนตรีต่างๆ จนเกินจังหวะที่เรียกว่า "Breakbeat" (ในสมัยนั้นเพลงที่นิยมเปิดกันใน Block Party ก็จะเป็นแนว Funk และ Soul เป็นส่วนมาก)
 ซึ่งจะเอาเฉพาะช่วงที่เป็นจังหวะกลองเท่านั้น ด้วยจังหวะที่สนุกสนานทำให้เกิดการเต้นเป็นวงกลม
ตามแบบฉบับของคนแอฟริกันโดยการยืนล้อมเป็นวงกลม และ มีหนึ่งเต้นอยู่ตรงกลางโชว์ลีลาใน
แบบของตนเอง วงกลมเหล่านี้ถูกเรียกว่า "Circle"  ในวงกลมนั้นการเต้นเริ่มมีการพัฒนาจากการ
ยืนเต้น "Toprock" จนกระทั่งลงไปเต้นหมุนตัวที่พื้น เป็นที่มาของ "Downrock"  หรือ "Footwork"
และทุกครั้งที่มีการหยุดเต้นหรือโพสท่าจบก็จะเรียกกันว่า "Freeze"


การเต้นลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นย่าน Bronx  ทุกๆคนต่างเรียกคนที่เต้นใน Circle
ถูกเรียกว่า "B-boy" หรือ "Break boy" ตามที่ Kool Herc เรียก ทุกๆครั้งที่มี Party  ใครที่เข้ามา
ใน Party เป็นประจำจะมีชื่อพิเศษที่ Kool Herc ตั้งให้และเรียกกันติดปาก เป็นที่มาของคำว่า
 A.K.A. (All Know As แปลว่าทุกคนรู้จักในชื่อว่า ... ) ตามด้วยชื่อที่ Kool Herc เรียกเป็น
ฉายาต่างๆ โดยจะประกาศผ่านไมโครโฟนเพื่อแสดงตัวของคนๆนั้น เป็นที่ว่าของคำว่า
 "MC" (Master of Ceremonies)


เมื่อการเต้นพัฒนาไปเป็นความเจ๋ง กลุ่มวัยรุ่นที่เกเรทำที่เคยทำตัวเป็นนักเลงได้เปลี่ยนมาทำกิจกรรม
เพื่อแสดงตัวตนของกลุ่มตัวเอง ผ่านการเต้นในรูปแบบของกลุ่มและคนนั้นๆ เพื่อแสดงความเจ๋งออกมา
ให้กลุ่มอื่นๆได้เห็น กลุ่มอื่นๆก็ไม่ยอมทำให้เกิดการแข่งกันใน Circle ซึ่งเรียกวัฒนธรรมนี้ว่าการ
"Battle"โดยแต่ละฝ่ายก็จะทำท่าที่เจ๋งกว่าอีกฝ่ายหรือแสดงว่าตนทำท่าได้เช่นเดียวกันแต่ดีกว่า เป็นต้น


จาก Block Party มาสู่ข้างถนนวัฒนธรรมนี้กระจายไปอย่างรวดเร็วมีการจัด Party กันในสนามบาสข้างๆ
ตึกที่อยู่อาศัยของตนเอง ความรุนแรงและอาชญากรรมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดสังคมเริ่มดีขึ้นเพราะ
มีกิจกรรมที่รองรับการแสดงออกของวัยรุ่นที่ถูกวิธีทำให้เกิดสังคมเล็กๆที่เรียกว่า "Hip-Hop" ขึ้นมา



DJ Kool Herc the father of Hip-Hop !!!